cpacacademy.com
หน้าแรก
เกี่ยวกับเรา
เสนอแนะ
ความรู้คอนกรีต
วิศวกรไขปัญหาคอนกรีต
หนังสือวิชาการคอนกรีต
ความรู้คอนกรีต
วิศวกรไขปัญหาคอนกรีต
หนังสือวิชาการคอนกรีต
การเกิดรังผึ้งในคอนกรีตเกิดได้อย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร วิธีการแก้ไขมีอะไรบ้าง
ตอบ
การเป็นโพรงแบบรังผึ้ง (Honeycombing) การเป็นโพรงของคอนกรีตที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้งโดยมากมักจะเกิดบนผิวหน้าของคอนกรีตที่เทโดยมีแบบปิด เช่น ด้านข้างของคาน เสา หรือผนัง
สาเหตุของการเกิดผิวหน้าคอนกรีตเป็นโพรงแบบรังผึ้ง
สาเหตุหลักๆ มักจะเกิดจากการอัดแน่นคอนกรีตไม่ดีพอ ทำให้มอร์ต้าไม่สามารถไปอุดช่องว่างระหว่างเม็ดหินได้ทั้งหมด หรืออาจเกิดจากแบบหล่อคอนกรีตแตกหรือมีรูรั่วเมื่อเทคอนกรีตไปแล้วทำให้ส่วนละเอียดไหลออกไปได้ หรือในบางกรณีอาจเกิดจากรูปร่างของแบบหล่อ จำนวนและระยะห่างของเสริมเหล็กที่ไม่เหมาะสมจนยากต่อการจี้เขย่าคอนกรีตก็เป็นสาเหตุของการเกิดผิวหน้าคอนกรีตเป็นโพรงแบบรังผึ้งที่พบได้บ่อยเช่นกัน
ผิวหน้าคอนกรีตเป็นโพรงแบบรังผึ้งคืออะไร
ผิวหน้าคอนกรีตเป็นโพรงแบบรังผึ้งเกิดจากมอร์ต้าไม่สามารถไปอุดช่องว่างระหว่างเม็ดหินได้เต็มทั้งหมด โดยหลังจากที่ถอดแบบจะเห็นว่าคอนกรีตมีผิวหน้าขรุขระเห็นหินเป็นเม็ดๆ โดยมีช่องว่างเป็นโพรงระหว่างเม็ดหิน ซึ่งในบางครั้งอาจมีชั้นมอร์ต้าบางๆ เคลือบปิดผิวหน้าอยู่ โพรงแบบรังผึ้งนี้ถ้าเกิดขึ้นแค่บริเวณผิวหน้าก็ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อโครงสร้างแต่จะส่งผลต่อความสวยงามเสียมากกว่า แต่หากว่าลึกและโพรงมีขนาดใหญ่ก็อาจจะส่งผลต่อความคงทนและการรับกำลังของโครงสร้างคอนกรีตได้
วิธีการปฏิบัติเพื่อลดปัญหาการเกิดผิวหน้าคอนกรีตเป็นโพรงแบบรังผึ้ง
เลือกใช้ส่วนผสมคอนกรีตที่มีส่วนละเอียดเพียงพอที่จะไปอุดตามช่องว่างระหว่างเม็ดหิน
เลือกใช้คอนกรีตที่มีค่ายุบตัวในขณะเทให้เหมาะสมกับงาน
ตรวจสอบระยะและการหนุนเหล็กเสริมให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ รวมทั้งควรมีการตรวจสอบระยะต่างๆ ในแบบหล่อเพื่อให้คอนกรีตสามารถไหลผ่านเข้าเต็มแบบได้โดยไม่เกิดการแยกตัว
ทำการตรวจสอบความแข็งแรงของแบบและค้ำยันก่อนเทคอนกรีต รวมทั้งอุดรูรั่วทั้งหมดรวมถึงรูในแบบที่ต้องมีเหล็กเสริมเสียบทะลุออกมา เพื่อป้องกันน้ำปูนไหลออกจากแบบขณะเทคอนกรีต
ในขั้นตอนการทำคอนกรีตให้แน่นจะต้องทำอย่างถูกต้องและเพียงพอ อีกทั้งควรเลือกใช้วิธีการเทคอนกรีตที่เหมาะสมกับงานเพื่อป้องกันการแยกตัวของคอนกรีต
วิธีการซ่อมแซมผิวหน้าคอนกรีตเป็นโพรงแบบรังผึ้ง
สำหรับการซ่อมคอนกรีตกรณีผิวหน้าเป็นโพรงแบบรังผึ้งให้พิจารณาขอบเขตความกว้างและความลึกของโพรง ซึ่งถ้าหากโพรงมีขนาดไม่ใหญ่และไม่ลึกมากนักก็ไม่ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อโครงสร้าง สามารถซ่อมแซมได้ด้วยการสกัดให้ลึกถึงเนื้อคอนกรีตที่ดี (ทางวิศวกรรมสามารถตรวจสอบได้จากการทดสอบแบบไม่ทำลายด้วยวิธี Impact-echo) จากนั้นทำความสะอาดและฉีดน้ำให้ชุ่มแล้วจึงทำการฉาบปิดด้วยมอร์ต้า (ปูนซีเมนต์ 1 ส่วนต่อทรายที่ร่อนผ่านตะแกรงเบอร์ 4 ประมาณ 2-3 ส่วน) หลังจากรอยซ่อมแข็งตัวให้บ่มชื้นต่อเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากต้องการให้สีของเนื้อคอนกรีตที่ฉาบซ่อมกลมกลืนกับสีของเนื้อคอนกรีตเดิมก็อาจใช้ปูนซิเมนต์ขาวผสมกับปูนซิเมนต์เทาในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อลดความเข้มของสีที่ฉาบซ่อม
ในกรณีที่โพรงมีขนาดใหญ่และทะลุเหล็กเสริมลงไปหรือมีความจำเป็นในการตัดเอาคอนกรีตบางส่วนออกเพื่อเทคอนกรีตลงไปใหม่ ควรได้รับคำแนะนำจากวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญก่อนการซ่อมเพื่อให้มั่นใจว่าความสามารถในการรับกำลังของโครงสร้างหลังซ่อมแซมเป็นไปตามการออกแบบที่วิศวกรโครงสร้างกำหนดไว้
อ้างอิงตาม
- Honeycombing
, Cement Concrete and Aggregates Australia
เรียบเรียงโดย :
ดร.ปัณฑ์ ปานถาวร,
อภินันท์ บัณฑิตนุกูล
×
Line Chat
Line
line ID :
@ecomsiam
Scan QR code หรือกด Add friend ได้ที่
https://line.me/R/ti/p/%40yel6714y