สาเหตุของการเกิดผิวหน้าคอนกรีตปูดพอง
ผิวหน้าคอนกรีตปูดพองจะเกิดขึ้นที่ผิวหน้าในขณะที่คอนกรีตยังไม่แข็งตัว โดยจะเกิดขึ้นเนื่องจากฟองอากาศที่ถูกกักเอาไว้ หรือเกิดจากน้ำที่เยิ้มขึ้นมา (Bleeding) บริเวณผิวหน้าของคอนกรีตแต่ได้ถูกกักเอาไว้เนื่องจากการแต่งผิวหน้าคอนกรีตก่อนเวลาอันควร โดยการเกิดผิวหน้าคอนกรีตปูดพองโดยทั่วไปมักจะเกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้
1. การจี้เขย่าคอนกรีตที่น้อยเกินไปหรือมากจนเกินไป โดยการจี้เขย่าที่น้อยเกินไปนั้นจะทำให้ฟองอากาศยังคงอยู่ภายในเนื้อคอนกรีต ส่วนการจี้เขย่าที่มากจนเกินไปนั้นอาจเกิดขึ้นจากการใช้เครื่องเขย่าชนิดวางบนผิวคอนกรีต (vibrating screeds) ถ้าเขย่ามากเกินไปจะทำให้มอร์ต้าลอยขึ้นมาอยู่บริเวณผิวหน้าของคอนกรีตเป็นจำนวนมาก
2. การใช้เครื่องมือที่ไม่เหมาะสมกับการแต่งผิวหน้าคอนกรีตให้เรียบ หรือการใช้อย่างไม่ถูกวิธี โดยควรมีการทดสอบปาดหน้าคอนกรีตด้วยเกรียงที่ทำจากวัสดุต่างๆ โดยเกรียงที่เลือกใช้ควรเรียบไม่ขรุขระ
3. ในสภาวะอากาศที่ร้อน ลมแรง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ จะทำให้ผิวหน้าของคอนกรีตสูญเสียน้ำออกไปอย่างรวดเร็วจนทำให้ผิวหน้าแข็งจนสามารถแต่งผิวหน้าคอนกรีตได้ (ขณะที่ในความเป็นจริงยังต้องรอ) แต่ภายในเนื้อคอนกรีตยังไม่แข็งตัวดี ลักษณะเช่นนี้จะเป็นการปิดกั้นน้ำและฟองอากาศที่จะลอยขึ้นสู่ผิวหน้าของคอนกรีต
4. การใช้คอนกรีตที่ผสมสารกักกระจายฟองอากาศหรือการใช้ปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งอัตราการเยิ้มและปริมาณของน้ำที่เยิ้ม จะลดลงอย่างมากเมื่อใส่สารกักกระจายฟองอากาศในคอนกรีต จึงอาจเป็นสาเหตุของการแต่งผิวหน้าคอนกรีตก่อนเวลาอันควร
5. ชั้นของดินที่รองรับมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณภูมิอากาศมาก สภาพเช่นนี้จะทำให้ผิวหน้าของคอนกรีตแข็งตัวเร็วกว่าด้านล่างจึงทำให้เกิดการแต่งผิวหน้าคอนกรีตก่อนเวลาอันควร
6. ความหนาของพื้นจะเป็นตัวกำหนดช่วงเวลาของการเยิ้มน้ำและฟองอากาศที่จะขึ้นมาที่ผิวหน้า ฉะนั้นพื้นที่หนาๆ ก็จะใช้เวลาที่นานกว่าระยะเวลาที่เคยทำงานตามปกติ
7. คอนกรีตที่มีความข้นเหลว (Slump) ต่ำๆ เนื่องจากมีปริมาณวัสดุประสานหรือใช้ทรายที่ละเอียดมากๆ จะทำให้มีอัตราการเยิ้มน้อยหรือเกิดขึ้นช้า กลับกันถ้าส่วนผสมคอนกรีตที่ใช้ปริมาณวัสดุประสานต่ำจะทำให้เกิดการเยิ้มอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่สั้นกว่า สำหรับคอนกรีตที่มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเยิ้มช้าจะต้องยืดเวลาการแต่งผิวหน้าออกไป
8. การสาดปูนซีเมนต์ผงลงบนผิวหน้าคอนกรีตเพื่อทำการขัดหน้านั้นเป็นการแต่งผิวหน้าคอนกรีตโดยทำเร็วกว่าเวลาอันสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรทำในคอนกรีตที่ผสมสารกักกระจายฟองอากาศ
9. การเทคอนกรีตโดยตรงบนวัสดุกันน้ำหรือที่รองรับที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้นั้น จะทำให้น้ำที่เยิ้มขึ้นมาบนผิวหน้าคอนกรีตมากขึ้น เนื่องจากชั้นดินที่รองรับไม่สามารถดูดซึมน้ำในคอนกรีตบางส่วนไว้ได้