อาคาร 7 ชั้น  ห่างจากทะเลประมาณ 350-400ม.  ปัญหาที่เกิดคือ...
    1.พื้นชั้นที่ 6 มีรอยแตกลายงาเป็นบริเวณกว้าง และ มีน้ำหยดลงมาทำให้ฝ้าชั้นที่ 5 ของอาคารทำให้ฝ้าพังลงมา (ชั้นที่ 6 เป็นสระว่ายน้ำรวมอยู่ด้วย)
    2.วิธีที่จะแก้ปัญหามีอะไรบ้าง  โดยที่จะไม่ต้องไปแก้ไขในส่วนของโครงสร้างเดิม (อาคารใช้งานมาแล้ว 4 - 5 ปี
)

ตอบ

    หากปัญหาน้ำรั่วนี้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นภายหลังอาคารมีการใช้งานมาแล้วหลายปี สาเหตุน่าจะมากจากการหดตัวโดยธรรมชาติของคอนกรีต ซึ่งตามที่ท่านอธิบายถึงลักษณะการแตกร้าวที่พื้นเป็นแบบ "ลายงา" นั้น สาเหตุที่ทำให้เกิดการแตกร้าวในลักษณะนี้ (ภาษาช่างเรียกว่า Crazing) มาจากการปั่นหน้าคอนกรีตสดมากเกินไปทำให้มีการสูญเสียน้ำที่ผิวหน้า จึงเกิดแรงดึงบริเวณผิวหน้าของคอนกรีตมากจนตัวมันเองไม่สามารถรับแรงดึงนี้ไว้ได้ แต่ผมคิดว่าคำว่า "ลายงา" ที่ท่านอธิบายมานั้นคงจะไม่ใช่ Crazing เพราะ Crazing จะเป็นการแตกร้าวที่ผิวหน้าและไม่เป็นอันตรายต่อคอนกรีต (ภาษาช่างเรียกว่า Cosmetic or Non-structural crack) และจะเป็นรอยแตกที่เล็กมาก จะไม่ขยายตัวในภายหลังจากการหดตัวของคอนกรีต ดังนั้นจากข้อมูลที่ท่านได้กล่าวมาผมไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุเริ่มแรกของการแตกร้าวนี้มาจากอะไร อาจเป็นตัววัสดุเอง หรือการทำงาน หรือการออกแบบ หรือการใช้งานที่เหนือขอบเขตของการออกแบบ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
         
อย่างไรก็ตาม วิธีแก้ปัญหามีดังนี้           

    1. ควรรีบหาทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขจะสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ปล่อยให้ผ่านไป เนื่องจากเหล็กเสริมจะเกิดสนิมมากขึ้น โดยเฉพาะอาคารที่อยู่ใกล้ทะเลเช่นนี้
    2. ต้องว่าจ้างวิศวกรโยธาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้างมาตรวจสอบพื้นว่าเหล็กเสริมเป็นสนิมมากหรือน้อยเพียงใด พื้นมีโอกาสพังทลายลงมาหรือไม่ สามารถซ่อมพื้นได้หรือไม่ ท่านสามารถติดต่อวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ ว.ส.ท. เพื่อหารายชื่อวิศวกรโยธาที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องโครงสร้าง (02-319-2410-3, 02-319-2708-10)
    3. ความเป็นไปได้ที่ซ่อมพื้นได้นั้นสูง หากวิศวกรเห็นว่าซ่อมได้ เขาอาจแนะนำการซ่อมหลายวิธี ซึ่งท่านอาจจะต้องเลือก โดยพิจารณาจากราคาและอายุการใช้งานของวัสดุที่ใช้ในการซ่อมรวมถึงอายุการใช้งานของอาคาร อาจใช้วัสดุพวก Epoxy หรือ ผลิตภัณฑ์ Xypex Water-proofing ซึ่งทางบริษัทฯ เราสามารถแนะนำผู้รับเหมาที่มีความชำนาญในการซ่อมด้วยวัสดุแต่ละประเภทหากท่านต้องการ

    อย่างไรก็ตามเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคำชี้แนะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการที่ท่านจะนำไปดำเนินการแก้ไขต่อไป

ดร.ปัณฑ์ ปานถาวร