การขจัดรอยเปื้อนออกจากพื้นผิวคอนกรีต
(Removing Stains from Concrete)
   
   
    ในการทำความสะอาดคราบต่างๆ ที่ติดฝังอยู่บนผิวคอนกรีตควรรีบทำตั้งแต่แรกๆ อย่างทิ้งไว้นาน โดยให้รีบทำความสะอาดส่วนที่หกลงบนพื้นผิวของคอนกรีตก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายไปบริเวณอื่น จึงควรซับด้วยกระดาษผ้าหรือวัสดุดูดซับอื่นๆ ให้ระวังพวกคราบน้ำมันต่างๆ เนื่องจากน้ำมันสามารถซึมลงไปฝังในเนื้อคอนกรีตได้ ในการทำความสะอาดรอยเปื้อนจากคอนกรีตควรลองทำในพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่สะดุดตาก่อนเผื่อว่าไม่ได้ผลจะได้เปลี่ยนวิธีได้ทัน โดยหลังจากการขจัดคราบด้วยวิธีใดๆ แล้วก็ควรล้างน้ำทำความสะอาดอีกครั้งหนึ่ง

ข้อควรระวังในการใช้สารเคมีในการขจัดคราบ !!! 
  • กรดไฮโดรคลอริคเจือจาง, น้ำยาฟอกขาวหรือสารทำความสะอาดอื่นที่มีสารเคมีเป็นองค์ประกอบหลัก สามารถทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ได้ ถ้าใช้อย่างไม่ถูกต้อง
  • อ่านขั้นตอนการเตรียมสารละลายและคำเตือนของผู้ผลิตสารเคมีอย่างละเอียดก่อนใช้
  • ปฏิบัติตามข้อแนะนำความปลอดภัยและอัตราการผสม
  • ในการผสมสารเคมีควรเจือจางกรดด้วยการเติมกรดลงในน้ำที่เตรียมไว้ โดยไม่ควรเติมน้ำไปเจือจางกรด
  • สวมเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม และควรปฎิบัติงานในที่ที่มีอากาศถ่ายเท
  • กรดสามารถทำลายพื้นผิวของคอนกรีตได้ ในการใช้จึงจะต้องเจือจางก่อนและล้างทำความสะอาดทันทีหลังจากการใช้งาน

 
คราบหมากฝรั่ง
    ใช้น้ำแข็งประคบเอาไว้เพื่อให้คราบหมากฝรั่งแข็งตัวเสียก่อน จากนั้นขูดคราบหมากฝรั่งที่แข็งตัวแล้วออกให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นผสมวัสดุมีคุณสมบัติดูดซับได้ดี เช่น ทรายแมว (Cat Litter)  กับเมธิลแอลกอฮอล์ (Methylated Spirits) หรืออาจใช้น้ำยาบ้วนปากแทน จนวัสดุดังกล่าวมีลักษณะอิ่มตัว แล้วพอกเอาไว้บริเวณคราบหมากฝรั่งทิ้งไว้จนแห้ง การทำเช่นนี้จะทำให้คราบหมากฝรั่งเปราะยิ่งขึ้น แล้วจึงค่อยใช้แปรงที่มีขนแข็งๆ หรือแปรงลวดขัดส่วนที่เหลืออีกที จบด้วยการทำความสะอาดอีกครั้งด้วย

การล้างด้วยน้ำยาทำความสะอาดพื้นผสมกับน้ำร้อน แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกที อีกวิธีหนึ่งคือการขูดเอาคราบหมากฝรั่งออกให้ได้มากที่สุดหลังจากนั้นขจัดคราบที่เหลือด้วยตัวทำละลายประเภท เอมิลแอซีเทต (Amyl Acetate)

คราบดินโคลนและคราบเครื่องดื่ม 
    ขัดบริเวณคราบนั้นแรงๆ ด้วยน้ำอุ่นผสมน้ำยาทำความสะอาดพื้นแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ในกรณีที่คราบฝังลึกให้ทำดังนี้ ก่อนอื่นราดน้ำให้เปียกจากนั้นใช้น้ำยาฟอกขาว ราดให้ทั่ว ขัดให้สะอาดแล้วจึงค่อยล้างออกด้วยน้ำ
 
คราบกาแฟ 
    ขัดบริเวณคราบนั้นแรงๆ ด้วยน้ำอุ่นผสมน้ำยาทำความสะอาดพื้นแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ถ้าคราบนั้นยังไม่ออกให้ใช้กลีเซอรอล (Glycerol) 1 ส่วนผสมน้ำ 4 ส่วน คลุกกับวัสดุมีคุณสมบัติดูดซับได้ดี เช่น ทรายแมว (Cat Litter) จนวัสดุดังกล่าวอิ่มตัว จากนั้นนำไปพอกเอาไว้บริเวณคราบดังกล่าวทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จึงค่อยล้างออกแล้วขัดด้วยผงขัดทำความสะอาดอีกที
 
คราบเกลือ (Efflorescence)
    ให้ลองขูดคราบออกด้วยแปรงที่มีขนแข็งๆ ถ้าคราบเกลือยังคงเหลืออยู่ อาจต้องใช้สารเคมีเข้าช่วยโดยการผสมกรดไฮโดรคลอริค (Hydrochloric Acid) 1 ส่วนต่อน้ำ 20 ส่วน โดยก่อนอื่นให้ฉีดน้ำที่พื้นผิวคอนกรีตที่เป็นคราบให้ชุ่มเสียก่อน รอให้ผิวหมาดๆ แล้วราดด้วยกรดเจือจางที่ได้ผสมเอาไว้ ทิ้งเอาไว้ 10-15 นาที จึงค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
 
คราบเชื้อรา 
    ราดน้ำให้พื้นเปียกจากนั้นใช้น้ำยาฟอกขาว ราดให้ทั่ว ขัดให้สะอาดแล้วจึงค่อยล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ทิ้งไว้จนแห้งค่อยขัดคราบเชื้อราที่หลงเหลืออยู่ด้วยแปรงที่มีขนแข็งๆ ซึ่งอาจทำซ้ำได้ถ้าคราบติดฝังแน่น การฉีดล้างด้วยน้ำที่มีแรงดันสูง (High-Pressure) ก็จะช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

คราบน้ำมันและคราบจารบี 
    คราบพวกนี้ขจัดออกยากมากเนื่องจากน้ำมันสามารถซึมลงไปฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีตได้ ดังนั้นเมื่อทำน้ำมันหรือจารบีหกต้องรีบหยุดการแพร่กระจายเสียก่อนด้วยการนำทราย, ดิน, ขี้เลื่อยหรือทรายแมว มาล้อมเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นใช้ผ้าหรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติดูดซับได้ดี ซับน้ำมันออกให้หมด แล้วจึงเก็บกวาดให้สะอาด ต่อมาใช้ปูนขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำมันสน 2 ส่วนพอกให้ทั่วบริเวณที่เปื้อนคราบน้ำมัน ให้หนาประมาณ 5 มม. และเกินออกจากขอบรอยเปื้อนไปประมาณ 5-10 ซม. โดยรอบ คลุมด้วยแผ่นพลาสติกให้มิดชิดทิ้งเอาไว้ 24 ชั่วโมงจึงค่อนขูดออก ทำซ้ำอีกได้ถ้าคราบยังหลงเหลืออยู่ หลังจากเป็นที่พอใจแล้วจึงค่อยขัดทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกอีกครั้ง
 

คราบสีที่แห้งแล้ว 
    ให้ขูดคราบสีที่แห้งแล้วออกไปให้ได้มากที่สุด จากนั้นราดน้ำยาขจัดคราบสี (Paint removers) ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดให้ทั่ว ทิ้งไว้ 20-30 นาที จึงค่อยขูดเอาคราบสีส่วนที่เหลือจากนั้นล้างทำความสะอาด ในกรณีคราบที่ฝังแน่นอาจขัดด้วยผงขัดทำความสะอาดพื้นหรืออาจต้องใช้กรดเหมือนวิธีขจัดคราบเกลือ

 
คราบสีที่ยังไม่แห้ง 
    ให้รีบซับเอาสีที่หกออกให้หมดด้วยผ้าหรือกระดาษผ้า แต่อย่าเช็ดหรือถูเด็ดขาดเพราะจะทำให้สีกระจายออกไปออกไปมากกว่าเดิม หลังจากนั้นจึงขัดด้วยผงขัดทำความสะอาดพื้น แล้วปล่อยทิ้งเอาไว้ซัก 3 วัน ถ้ายังมีคราบอยู่ให้ใช้วิธี “การขจัดคราบสีที่แห้งแล้ว” ซ้ำอีกที การใช้น้ำยาขจัดคราบสี (Paint removers) หรือตัวทำละลายอื่นๆ (Solvents) ก่อนที่สีจะแห้งสนิท (ภายใน 3 วัน) อาจจะทำให้สีที่ถูกทำละลายแพร่กระจายลงสู่เนื้อคอนกรีตลึกขึ้นและฝังแน่นยิ่งกว่าเดิม

คราบสนิม 
    ก่อนอื่นให้ขัดสนิมที่ผิวด้วยแปรงลวดเสียก่อน จากนั้นนำโซเดียมซิเตรต (Sodium citrate)   1 ส่วนผสมน้ำอุ่น 6 ส่วน คลุกกับวัสดุมีคุณสมบัติดูดซับได้ดี เช่น ทรายแมว (Cat Litter) จนวัสดุดังกล่าวอิ่มตัว จากนั้นนำไปพอกเอาไว้บริเวณคราบดังกล่าว รอจนแห้งจึงค่อยกวาดออกแล้ว ตามด้วยการทำความสะอาดอีกครั้งด้วยการขัดทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดพื้นผสมกับน้ำอุ่น แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกที
 

คราบเขม่าควัน 
    ให้ขัดคราบเขม่าควันด้วยผงขัดจากหินภูเขาไฟ (Powdered Pumice) หรือผงขัดทำความสะอาดที่เป็นสารฟอกขาวที่ใช้ในบ้านเรือน เช่น ซักผ้าขาว ขจัดคราบ ฆ่าเชื้อ ซึ่งจะเป็นสารฟอกขาวประเภทคลอลีน เช่น แคลเซียมไฮโปคลอไรด์และ โซเดียมไฮโปคลอไรด์
 
รอยเปื้อนจากคราบไม้  
    ขัดด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วล้างทำความสะอาด จากนั้นใช้เศษผ้าจุ่มน้ำยาฟอกขาว ให้ชุ่มแล้วนำมาโป๊ะเอาไว้ซักพัก ทำซ้ำได้จนกว่าจะพอใจ หลังจากนั้นขัดทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดพื้น แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกที

ที่มา : Removing Stains form Concrete, Cement and Concrete Association of Australia
เรียบเรียงโดย : 
ดร.ปัณฑ์ ปานถาวร, อภินันท์ บัณฑิตนุกูล