การเกิดฝุ่นที่ผิวหน้าคอนกรีต (Dusting Concrete Surfaces)   
 
    การเกิดฝุ่นที่ผิวหน้าคอนกรีตเป็นการสะสมของวัสดุที่มีลักษณะเป็นผงหรือเป็นฝุ่นอยู่ที่บริเวณผิวหน้าของคอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับโครงสร้างคอนกรีตประเภทพื้นและผิวถนน โดยจะเกิดภายหลังจากการใช้งานหรือถูกขัดสีไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง

 
สาเหตุที่ทำให้ผิวหน้าของคอนกรีตเป็นฝุ่น

    ฝุ่นที่ผิวหน้าคอนกรีตมีสาเหตุมาจากการที่ผิวหน้าคอนกรีตมีความอ่อนแอไม่สามารถต้านทานการขัดสีซึ่งเกิดขึ้นโดยปกติ หรืออาจถูกขีดข่วนด้วยวัตถุที่มีความแข็งหรือการกวาดพื้น อนุภาคของส่วนละเอียดไม่มีแรงยึดเหนี่ยวกับเนื้อคอนกรีตทำให้อนุภาคของส่วนละเอียดนี้หลุดร่อนออกมา โดยมีสาเหตุหลักในการเกิดดังนี้

  • การเลือกใช้คอนกรีตไม่ถูกกับประเภทของงาน เช่น เลือกใช้คอนกรีตที่มีกำลังอัดต่ำเกินไปและมีความสามารถรับการขัดสีได้น้อย
  • มีปริมาณน้ำในส่วนผสมคอนกรีตที่มากเกินไปหรือมีการเติมน้ำที่หน้างาน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเยิ้มขึ้นที่ผิวหน้าคอนกรีต ซึ่งการเยิ้มของน้ำที่มากไปนั้นจะนำน้ำและส่วนละเอียดต่างๆ ลอยขึ้นมาอยู่ที่ผิวหน้าของพื้นคอนกรีต ส่งผลให้ผิวหน้าไม่แข็งแกร่งและเป็นฝุ่นได้ง่าย
  • การแต่งผิวหน้าคอนกรีตที่เร็วเกิน ก่อนที่น้ำจะเยิ้มขึ้นมาที่ผิวหน้า การแต่งผิวหน้าในช่วงเวลาดังกล่าวจะทำให้น้ำที่กำลังเยิ้มขึ้นมา ถูกดันกลับเข้าไปในเนื้อคอนกรีต ดังนั้นผิวหน้าคอนกรีตจึงมีอัตราส่วนน้ำต่อซีเมนต์สูงกว่าที่ออกแบบ ส่งผลให้ผิวหน้าคอนกรีตขาดความแข็งแกร่ง
  • น้ำส่วนเกินจากในระหว่างการแต่งผิวหน้าคอนกรีต เช่น การฉีดพ่นน้ำลงบนพื้นคอนกรีตเพื่อที่จะได้ขัดหน้าได้สะดวกขึ้น
  • ไม่มีการป้องกันผิวหน้าคอนกรีตที่ยังไม่แข็งตัว ขณะเกิดฝนตก
  • ขาดการบ่มที่เพียงพอ โดยผิวหน้าของคอนกรีตถูกปล่อยให้สูญเสียน้ำออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาวะที่อากาศร้อน ความชื้นในอากาศต่ำและมีลมพัดแรง ทำให้ความแข็งแรงของผิวหน้าคอนกรีตลดลง ดังนั้นการบ่มคอนกรีตอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่จะได้คอนกรีตที่มีคุณภาพและมีผิวหน้าที่ทนทาน
  • การอัดแน่นหรือการจี้เขย่าที่ไม่ถูกต้องและเพียงพอ
  • การสาดปูนซีเมนต์ผงในขณะที่ทำการแต่งผิวหน้าคอนกรีต เป็นการเพิ่มปริมาณส่วนละเอียดให้กับผิวหน้าคอนกรีตให้มากขึ้น ซึ่งทำให้ชั้นของผิวหน้าคอนกรีตไม่แข็งแรง
  • การเทคอนกรีตบนพื้นดิน ที่มีการดูดซับต่ำหรือมีการปูแผ่นพลาสติกหรือใช้น้ำยากันการระเหยของไอน้ำประเภท Polyethylene
  • การเกิด Cabonation ที่ผิวหน้าเนื่องจากไม่มีอากาศถ่ายเทและมีก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์สูง

  • วิธีการลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาผิวหน้าคอนกรีตเป็นฝุ่น

  • เลือกใช้คอนกรีตให้เหมาะสมกับงานประเภทต่างๆ อย่างถูกต้อง โดยต้องคำนึงถึงกำลังอัดและความสามารถในการต้านทานต่อการขัดสี ซึ่งยิ่งคอนกรีตมีอัตราส่วนของน้ำต่อวัสดุประสานต่ำก็จะยิ่งทนการขัดสีได้ดี
  • ไม่เติมน้ำเพิ่มลงในคอนกรีตที่หน้างานอีก
  • ในการเทคอนกรีตในหน้าหนาว ควรเลือกใช้คอนกรีตที่มีค่ายุบตัวที่ไม่สูงมาก (ไม่ควรเกิน 8 ซม.) เนื่องจากระยะเวลาการก่อตัวที่นานขึ้น จะทำให้เกิดการเยิ้มที่ผิวหน้าคอนกรีตมากกว่าเดิม ดังนั้นจึงไม่ควรใช้คอนกรีตที่มีค่ายุบตัวสูง ส่วนการเทคอนกรีตในหน้าร้อนสามารถเลือกใช้คอนกรีตที่มีค่ายุบตัวสูงขึ้น ตราบที่ระยะเวลาการก่อตัวและการเยิ้มยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ โดยที่ส่วนผสมคอนกรีตจะต้องไม่เกิดการเยิ้มที่มากเกินไปหรือเกิดการแยกตัวเมื่อเทคอนกรีต
  • ไม่ควรทำการแต่งผิวหน้าในขณะที่ยังมีการเยิ้มที่ผิวหน้าของคอนกรีต เพราะจะเป็นการทำให้น้ำที่กำลังจะลอยขึ้นมาที่ผิวหน้าถูกกักกลับไปใต้ผิวคอนกรีตอีก ยิ่งกว่านั้นยังเป็นการดึงฝุ่นและทรายขึ้นมาอยู่ที่ผิวหน้าอีกด้วย
  •  




  • ถ้าเกิดฝนตกในขณะที่ผิวหน้าคอนกรีตยังไม่แข็งตัว ให้หาวัสดุที่สามารถกันน้ำได้ เช่น แผ่นไม้ หรือ แผ่นพลาสติก มาคลุมที่ผิวหน้าไว้เพื่อป้องกันการชะล้างบริเวณผิวหน้าคอนกรีต ส่วนการแต่งผิวหน้าด้วยเครื่องขัดหรือการใช้เกรียงแต่งผิวหน้าคอนกรีตนั้น จะต้องรอให้น้ำที่เยิ้มขึ้นมาที่ผิวหน้าระเหยออกไปให้หมดเสียก่อน
  • ห้ามสาดปูนซีเมนต์ผง เพื่อดูดซับน้ำที่เยิ้มบนผิวหน้าคอนกรีต แต่ถ้าต้องการเอาน้ำที่เยิ้มออกไปจากผิวหน้าคอนกรีตก็ให้ใช้สายยางดูดออกหรือใช้ที่ปาดน้ำทำการปาดน้ำที่อยู่ที่ผิวหน้าคอนกรีตแทนการสาดปูนซีเมนต์ผง
  • ห้ามพรมผิวหน้าคอนกรีตด้วยน้ำเพื่อให้การแต่งผิวหน้าง่ายขึ้น
  • ในการอัดแน่นบริเวณผิวหน้าของพื้นคอนกรีตด้วยเครื่องเขย่าเฉพาะที่ผิวหน้านั้น จะช่วยทำให้ผิวหน้าคอนกรีตมีความต้านทานต่อการขัดสีดียิ่งขึ้น
  • ทำการบ่มทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการแต่งผิวหน้าและคอนกรีตเริ่มแข็งตัว โดยทำการบ่มอย่างน้อย 3-7 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของคอนกรีตและโครงสร้าง อาจใช้ได้หลายวิธี เช่น การบ่มโดยใช้น้ำยาบ่มคอนกรีตหรือใช้แผ่นพลาสติกคลุม เป็นต้น สำหรับงานที่ต้องการความสวยงามของพื้นผิวควรหลีกเลี่ยงการบ่มโดยการคลุมด้วยกระสอบหรือทราย เนื่องจากอาจจะทิ้งคราบตกค้างอยู่บนพื้นผิวคอนกรีตหลังจากการบ่มได้

  • วิธีการซ่อมผิวหน้าคอนกรีตที่เป็นฝุ่น 
        การซ่อมแซมผิวหน้าคอนกรีตที่เป็นฝุ่นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก วิธีการที่ดีที่สุดคือการลดความเสี่ยงที่จะเกิด ตามวิธีการที่กล่าวมาแล้ว สำหรับวิธีการซ่อมแซมที่แนะนำมีดังนี้

  • หากเกิดขึ้นไม่มาก อาจใช้วิธีขัดด้วยแปรงลวด อย่างเช่นการทำความสะอาดถนนด้วยรถขัดทำความสะอาดของ กทม.
  • การประยุกต์ใช้วิธีการทางเคมี โดยจะเพิ่มความแกร่งของผิวหน้ารวมทั้งป้องกันฝุ่นบนผิวหน้าคอนกรีต ซึ่งวิธีการนี้จะใช้สารเคมีจำพวก sodium silicate (water glass) หรือ magnesium fluoro-silicate เมื่อสารเคมีซึมเข้าสู่คอนกรีต จะทำปฏิกิริยาทางเคมีกับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ และเกิดตัวเชื่อมประสานหรือ Calcium Silicate Hydrate เพิ่มขึ้น วิธีการนี้สามารถใช้ได้กับคอนกรีตที่มีอายุ 28 วันขึ้นไป สำหรับความเสียหายของพื้นผิวหน้าคอนกรีตที่หลุดร่อนออกเป็นแผ่น ๆ จะไม่สามารถใช้วิธีการนี้ได้ หากวิธีนี้ไม่ได้ผลอาจใช้วิธีโค้ทหน้าคอนกรีตด้วย Epoxy Sealers หรือ Cement Paint แต่ราคาจะแพงมากสำหรับในประเทศไทย
  • การขัดผิวหน้าที่เป็นฝุ่นออก วิธีการนี้จะใช้ในกรณีที่ผิวหน้าคอนกรีตเกิดเป็นฝุ่นอย่างรุนแรง โดยการใช้เครื่องขัดผิวหน้าคอนกรีต ทำการขัดผิวหน้า (Wet-grinding) ที่อ่อนแอออก ให้เรียบจนกระทั่งเห็นเม็ดหิน ซึ่งโดยทั่วไปต้องขัดลึกประมาณ 3 มม.
  • วิธีการทับหน้า (topping) โดยการสกัดเอาส่วนผิวหน้าที่อ่อนแอออกแล้วจึงทำการเท topping ทับเพื่อปรับระดับให้ได้ตามที่ต้องการ ส่วนวัสดุที่ใช้ในการเททับนั้นมีอยู่ประเภท ซึ่งควรเลือกใช้ประเภทที่มีแรงยึดเกาะสูง
  • สำหรับบ้านพักอาศัย อาจทำการใช้วัสดุตกแต่งปิดทับผิวหน้าคอนกรีตได้เลย อาทิเช่น การปูพรมหรือการปูกระเบื้อง แต่กรณีนี้จะส่งผลให้ราคาค่าก่อสร้างสูงขึ้น

  • ที่มา :  - Dusting Concrete Surfaces, National Ready Mixed Concrete Association. U.S.A.
                - Avoiding Surface Imperfections in Concrete: Dusting concrete surfaces, Cement Concrete & Aggregates. Australia
    เรียบเรียงโดย :     ดร.ปัณฑ์ ปานถาวร, อภินันท์ บัณฑิตนุกูล