เคล็ดลับในการเทคอนกรีตทับหน้าชนิดเชื่อมประสาน (Bonded overlay)
   
    ในกรณีที่ต้องการเสริมพื้นคอนกรีตเดิม ให้สามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นได้ (พื้นวางบนดิน)  เราสามารถที่จะเทคอนกรีตทับผิวหน้าของพื้นคอนกรีตเดิม เพื่อเพิ่มความหนาให้พื้นรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ นี่คือเกล็ดที่จะช่วยให้การเทคคอนกรีตทับหน้าชนิดเชื่อมประสาน (Bonded overlay) ให้ได้ผลดี มีดังนี้
 

 
ข้อที่ 1
    ใช้อัตราส่วนน้ำต่อซีเมนต์ (w/c) ให้ต่ำๆ เพื่อให้คอนกรีตหดตัว (Shrinkage) และโก่งงอ (Curling) น้อยที่สุด โดยเลือกใช้อัตราส่วนน้ำต่อซีเมนต์ (w/c) ประมาณ 0.45 หรือน้อยกว่าเท่าที่เป็นไปได้ อีกทั้งปูนซีเมนต์ที่ใช้ควรมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 360 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนหินที่ใช้ต้องมีขนาดใหญ่สุดไม่เกิน 1 ใน 3 ของความหนาของพื้นที่จะเททับ

 
ข้อที่ 2 
    ใช้เลื่อยตัด (Sawed cut) เพื่อทำรอยต่อคอนกรีต (Joint) ในกรณีนี้ จะต้องตัดให้สุดความหนาของพื้นที่เททับ โดยตัดให้ทับแนวเดิมกับรอยต่อของพื้นคอนกรีตเดิมข้างใต้ รอยนี้อาจจะมีแนวไม่ตรงกันสนิทตลอดความยาว อย่างไรก็ตามการตัดคอนกรีตที่เททับหน้าให้ลึกตลอดความหนาของพื้นแบบนี้จะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแตกร้าวของพื้นที่เททับหน้าได้ ในตำแหน่งที่รอยต่อไม่ตรงแนวกัน
 

ข้อที่ 3 

    การบ่มคอนกรีตอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเทพื้นผิวคอนกรีตใหม่ชนิดเชื่อมประสานมากกว่าการเทคอนกรีตทั่วไป การเทพื้นคอนกรีตในลักษณะนี้ ความชื้นในคอนกรีตในระยะต้นๆ จะแห้งอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากมีค่าอัตราส่วนพื้นที่ผิวต่อปริมาตรที่สูงสำหรับชั้นคอนกรีตบางๆ ลักษณะนี้  การป้องกันสามารถทำได้โดยการพ่นน้ำให้เป็นละอองฝอยทันทีหลังการแต่งผิวหน้าเสร็จและคลุมด้วยกระสอบเปียกหรือใช้แผ่นพลาสติกคลุมทันทีที่ทำได้เพื่อป้องกันการละเหยของน้ำที่ผิวหน้าคอนกรีต


ที่มา : Portland Cement Association. Concrete Technology
เรียบเรียงโดย : อภินันท์ บัณฑิตนุกูล