การปฏิบัติงานคอนกรีตอย่างปลอดภัย

    คอนกรีตคือวัสดุก่อสร้างชนิดหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะเป็นวัสดุที่ใช้งานได้ง่าย  มีความทนทานอีกทั้งยังมีความเหมาะสมทางด้านราคา แต่จากการสังเกตตามสถานที่ก่อสร้างโดยทั่วๆไปยังขาดความเข้าใจและตระหนักในการทำงานคอนกรีตอย่างปลอดภัย แต่ละปีมีคนจำนวนไม่น้อยที่บาดเจ็บจากการผสม และการสัมผัสกับคอนกรีตสดหรือคอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว  ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นตัวอย่างและข้อแนะนำง่ายๆ ที่จะช่วยให้การทำงานกับซีเมนต์และคอนกรีตเป็นไปอย่างปลอดภัย
 

    ในสถานที่ก่อสร้างควรจะต้องมีป้ายเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตามจุดต่างๆที่อาจจะเกิดอันตรายขึ้นอย่างพอเพียง โดยเขตก่อสร้างที่อันตรายจะต้องมีเครื่องกีดขวางและป้ายเตือนบอก อีกทั้งควรรักษาความสะอาดภายในสถานที่ก่อสร้าง ให้สะอาดอยู่เสมอ จงจำไว้ว่าความปลอดภัยคือสิ่งที่ทุกๆ คนในหน่วยงานต้องร่วมกันทำ

 
การปกป้องศรีษะและดวงตา
   
สำหรับอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลที่จำเป็นจะต้องใส่ติดตัวอยู่ตลอดเวลาคือ หมวกนิรภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการป้องกันอันตรายจากสิ่งของตกใส่ศรีษะ ดวงตาเป็นอวัยวะที่บอบบางมาก ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้จากฝุ่นที่ฟุ้งกระจายอยู่ในสถานที่ก่อสร้าง, เศษคอนกรีตกระเด็นใส่หรือสาเหตุอื่นๆ สำหรับการปกป้องดวงตาเมื่อต้องทำงานกับซีเมนต์หรือคอนกรีต คือการสวมแว่นตานิรภัยแบบมีที่ปิดด้านข้าง ซึ่งอุปกรณ์สำหรับการป้องกันศรีษะและดวงตาจะต้องใช้งานอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามคำแนะนำจากผู้ผลิต  

 
การป้องกันหลัง 
   
วัสดุที่นำมาผสมคอนกรีตไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์, หิน, ทรายหรือน้ำ ล้วนแต่เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักมาก ท่าที่ถูกต้องเมื่อคุณต้องยกของที่มีน้ำหนักมาก คือหลังของคุณต้องเหยียดตรง งอเข่าทั้งสองข้างโดยที่ทิ้งให้น้ำหนักอยู่ระหว่างขาทั้งสอง และให้ของที่จะยกแนบกับลำตัวมากที่สุดขณะยกให้ยกขึ้นตรงๆไม่บิดตัว ซึ่งอาจใช้เอวในการประคองของที่จะยกให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม ฉะนั้นในการยกของหนักในแต่ละครั้งควรทำหลังให้ตรงในขณะยก จะช่วยให้คุณยกของอย่างถูกต้องและปลอดภัย 

 
การป้องกันผิวหนัง     
   
เมื่อต้องทำงานซึ่งต้องสัมผัสกับคอนกรีตสด ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนัง, ดวงตา และเสื้อผ้าที่สวมใส่สัมผัสกับคอนกรีตสดโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดการระคายเคืองเนื่องจากสัมผัสถูกสารเคมีที่ผสมอยู่ในคอนกรีตซึ่งการระคายเคืองต่อผิวหนังนี้ สามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้

    1.การระคายเคืองเนื่องจากเหลี่ยมคมของมวลรวมที่ใช้ในการผสมคอนกรีตบาดถูกผิวหนัง
    2.
ปูนซีเมนต์ที่เรานำมาผสมคอนกรีต เมื่ออยู่ในสถานะที่เพสต์แล้วจะมีคุณสมบัติที่เป็นด่างอย่างรุนแรง ซึ่งโดยปกติจะมีค่า
pH ประมาณ 12-13 การสัมผัสกับกรดหรือด่างที่รุนแรงนี้จะเกิดอันตรายต่อผิวหนังอย่างมาก
    3.เ
นื่องจากปูนซีเมนต์ มีความสามารถในการดูดซับความชื้นที่สูงมาก ฉะนั้นเมื่อต้องสัมผัสกับปูนซีเมนต์โดยตรง ผิวหนังของเราจะถูกปูนซีเมนต์ดูดซับเอาความชุ่มชื้นของผิวหนังออกไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดความแห้งกร้าน

    สำหรับการแต่งกายเมื่อจะต้องทำงานสัมผัสกับคอนกรีตสดนั้น ควรต้องใส่รองเท้าบู๊ตยางกันน้ำ เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวซึ่งเสื้อผ้าที่ใช้สวมนั้นควรมีคุณสมบัติที่สามารถกันน้ำได้ เพราะเพสต์ในคอนกรีตสดนั้นอาจจะซึมผ่านเสื้อผ้าเข้ามาทำอันตรายต่อผิวหนังของเรา
ถ้าเกิดอาการระคายเคืองอันเนื่องมาจากสัมผัสกับคอนกรีตสด วิธีที่ดีที่สุดในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นก็คือการฟอกสบู่แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ตรงบริเวณที่เกิดการระคายเคือง


 
การเทและการแต่งผิวหน้าคอนกรีต  
  
ในส่วนที่จะต้องสัมผัสกับคอนกรีตสดไม่ว่าจะเป็นเข่า, ข้อศอก, แขนหรืออวัยวะอื่นๆ ควรจะใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ทำจากวัสดุที่สามารถกันน้ำได้ เพื่อใช้ปกป้องร่างกายในระหว่างการทำงานกับคอนกรีต เมื่อคอนกรีตสดเกิดกระเด็นเข้าตาหรือถูกบริเวณผิวหนังก็ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่นั้นก็ควรเป็นชุดที่สามารถกันน้ำได้ เพราะเมื่อเสื้อผ้าเปื้อนคอนกรีตก็จะได้สามารถล้างออกได้ทันที กรณีผิวหนังหรือดวงตาเกิดการแพ้อย่างรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์

สรุป

1. การสัมผัสกับคอนกรีตสด, มอร์ต้า, ปูนซีเมนต์ หรือสารผสมเพิ่ม อาการส่วนมากที่พบในการสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ได้แก่ การระคายเคือง, เกิดผื่นแพ้ขึ้นตามผิวหนัง หรือการอักเสบเมื่อเข้าตา ดังนั้นเมื่อต้องปฎิบัติงานกับสิ่งเหล่านี้เราจำเป็นต้องสวมถุงมือยาง, รองเท้ายาง, เสื้อแขนยาว, กางเกงขายาวและการสวมแว่นตานิรภัยให้ถูกต้อง
2.
ถ้าคุณจำเป็นต้องเดินบนคอนกรีตสดอย่าลืมเลือกใช้รองเท้าบู๊ตยางที่มีความสูงเพียงพอที่จะไม่ให้คอนกรีตไหลเข้าไปในรองเท้าได้
3.
เมื่อสัมผัสกับคอนกรีตสด, มอร์ต้า, ปูนซีเมนต์ หรือสารผสมเพิ่ม ให้รีบล้างออกทันที หลังจากเสร็จงาน
4. ถ้าคอนกรีตหรือปูนซีเมนต์กระเด็นเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที
5. ถ้าเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์

เรียบเรียงโดย
อภินันท์ บัณฑิตนุกูล