ได้รับแจ้งจากลูกค้าให้ไปตรวจสอบพื้นคอนกรีตแตกร้าวของลานบ้านแห่งหนึ่ง โดยที่ใช้คอนกรีตกำลังอัดรับรอง 180 ksc. (Cylinder) ทำการเทคอนกรีตตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน หลังการเทคอนกรีตไม่ได้เกิดการแตกร้าวแบบพลาสติก แต่เริ่มมีการแตกร้าวเกิดขึ้นประมาณเดือนธันวาคม จนถึงปัจจุบันยังเกิดการแตกร้าวขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ตอบ  จากการเข้าไปสำรวจทางกายภาพบริเวณหน้างานจริงเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงโดยทีมงานซีแพคพบว่า
 
  • คอนกรีตเกิดการแตกร้าวทั่วทั้งแผ่น
  • ความหนาของคอนกรีตประมาณ 7.5 – 12 ซม.
  • ความลึกของรอยร้าวประมาณ 2 ซม. (ไม่ทะลุถึงผิวชั้นล่าง) และกว้างประมาณ 0.5 มม.
  • ไม่ได้ทำ Contraction Joint , Isolation Joint
  • Temperature Reinforcement เป็น Wire mesh ขนาด 6 mm. อยู่ต่ำจากผิวคอนกรีตประมาณ 6-9 ซม.
  • คอนกรีตมีสีขาวซีดที่บริเวณผิวหน้าคอนกรีตมีเนื้อยุ่ย หินไม่ยึดติดกับเนื้อคอนกรีต

ลักษณะของรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้น

ก้อนตัวอย่างคอนกรีตที่ได้จากการเจาะพื้น
 
การวิเคราะห์สาเหตุการแตกร้าว

1. จากวิธีการทำงานที่ไม่ถูกต้อง
 
    เนื่องจากโครงสร้างเป็นพื้นกว้าง จึงต้องมีการทำรอยต่อทั้ง Contraction Joint และ Isolation Joint เพื่อควบคุมให้รอยแตกร้าวอันเนื่องมาจากการหดตัวของคอนกรีตอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดไว้ Contraction Joint จะต้องกำหนดเป็นระยะๆ ทั้งแนวยาวและแนวขวาง การทำ Contraction Joint โดยวิธีตัดด้วยเลื่อย (saw joint) จะต้องทำทันทีที่คอนกรีตแข็งตัว โดยให้ความลึกของร่องประมาณ ¼ ของความหนาของแผ่น
    ส่วน Temperature Reinforcement ซึ่งเป็นเหล็กเสริมกันแตกร้าวคอนกรีตจากอุณหภูมิให้วางที่ตำแหน่ง 5 ซม. หรือ 1/3 ของความหนาพื้นจากผิวบนของพื้น (ให้เลือกใช้ค่าที่น้อยกว่า)
    จากการเจาะตัวอย่างคอนกรีตจากหน้างาน พบว่า เหล็กเสริมกันแตกร้าวจากอุณหภูมิ อยู่ต่ำจากผิวบนประมาณ 6-9 ซม. จึงไม่ได้ช่วยในการลดการแตกร้าวของพื้นคอนกรีตอันเนื่องมาจากความร้อนและการหดตัว

2. จากคุณภาพของคอนกรีต 
    เนื่องจากผิวคอนกรีตมีสีขาวซีดแสดงว่ามีการเยิ้มของน้ำที่ผิวหน้าคอนกรีตมาก จากการสอบถามหน้างานพบว่าขณะเทคอนกรีตมีการเติมน้ำเพื่อให้คอนกรีตเหลว
    เมื่อทำการเจาะคอนกรีต (Core Test) มาทดสอบพบว่าจากก้อนตัวอย่าง 3 ก้อน กำลังอัดคอนกรีตมีค่า 195.5, 164.8 และ 209.6 โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 189.9 ksc. ซึ่งผ่านเกณฑ์ของ ACI ที่ระดับ 85%( 85% ของกำลังอัดรับรองที่ 180 ksc. = 153.0 ksc. )
    การที่เติมน้ำทำให้คอนกรีตเกิดการหดตัวแบบแห้งสูง หลังจากทิ้งไว้และน้ำในคอนกรีตแห้งไปเรื่อยๆ นอกจากนี้โครงสร้างที่เป็นพื้น อาจจะมีโอกาสเกิดปัญหาผิวหน้าร่อน เป็นฝุ่นหลังจากเปิดใช้งานมีค่อนข้างสูงอีกด้วย
 
บุญรอด คุปติทัฬหิ
อภินันท์ บัณฑิตนุกูล