การเกิด Efflorescence บนผิวคอนกรีต 
 
 
Efflorescence คืออะไร? 
    Efflorescence คือ รอยเปื้อนชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ผิวของคอนกรีต โดยมากจะเป็นคราบตะกอนสีขาวสะสมที่ผิวคอนกรีตหลังจากโครงสร้างเสร็จแล้ว ถึงแม้ว่าคราบนี้จะมีผลทำให้ลดความสวยงามของคอนกรีตลง แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตรายใดๆ ต่อโครงสร้าง และพบได้น้อยมากที่การเกิดตะกอนมากเกินไปภายในโพรง ของคอนกรีต จนทำให้เกิดขยายตัวดันจนผิวคอนกรีตแตกร้าว

 
สาเหตุที่เกิด
    Efflorescence เกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ไม่ว่า จะเป็นเกลือในวัสดุต่างๆ ที่ละลายน้ำได้ ความชื้นหรือน้ำที่ไปละลายเกลือ และการซึมผ่านของไอความชื้นหรือแรงดันน้ำที่ดันให้ของเหลวซึมผ่านคอนกรีตไปสู่ผิวนอก น้ำหรือความชื้นในคอนกรีตที่แข็งตัวแล้วจะละลายเกลือที่มีอยู่ สารละลายเกลือจะแพร่สู่ผิวคอนกรีตโดยการซึมของไอชื้นหรือด้วยแรงดันน้ำจากการที่น้ำที่ผิวคอนกรีตระเหยไปจะทิ้งเป็นคราบเกลือไว้ที่ผิวของคอนกรีต ยิ่งกว่านั้นอุณหภูมิ ความชื้น และลมก็มีผลต่อการเกิด Efflorescence เช่น อย่างในช่วงฤดูร้อน (แม้จะเป็นวันที่ฝนตก) น้ำระเหยออกอย่างรวดเร็ว และเกิดคราบเกลือขาวที่ผิวคอนกรีต

Moisture Testing เป็นการหาค่าความดันไอที่ผิวพื้นซึ่งจะบอกได้ว่า มีความชื้นแพร่ผ่านออกมาได้เท่าไร โดยทั่วไปค่าความดันไอที่ยอมรับได้อยู่ที่ประมาณ 3-5 lb./1000 sq.ft./24 hrs. Calcium Chloride Vapor Pressure test ก็เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ ส่วนการทดสอบดินและคอนกรีต จะทำให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสารละลายเกลือ และการตรวจสอบเรื่องการระบายน้ำ ระบบชลประทาน ท่อน้ำ และน้ำผิวดิน จะช่วยให้ได้ข้อมูลของต้นแหล่งความชื้นที่ทำให้เกิดปัญหานี้

วิธีการแก้ไข
    ปัญหาเหล่านี้นั้นแก้ไขค่อนข้างยาก แต่ทางหนึ่งที่เป็นไปได้คือการติดตั้งระบบ French Drain Systemเพื่อจะทำให้ความชื้นใต้แผ่นพื้นนั้นลดลงตามเวลาที่ผ่านไป ซึ่งก็จะทำให้น้ำแพร่ขึ้นมาที่ผิวพื้นลดน้อยลงหรือไม่มีเลย ส่งผลให้เกลือไม่สามารถขึ้นมาเกาะเป็นคราบที่ผิวคอนกรีตได้ ควรหลีกเลี่ยงการใส่น้ำจากภายนอกเข้าไประบบ นอกจากนี้การทำความสะอาดพื้นแบบเปียกก็ทำให้เกิดคราบได้เมื่อคอนกรีตแห้ง ดังนั้นจึงควรแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการทำความสะอาดแบบแห้ง

ที่มา : Frequently Asked Questions, PCA
เรียบเรียงโดย : อานนท์ ลาภขจรสงวน