อยากทราบวิธีการวัดความสามารถเทได้ของคอนกรีตที่มีความข้นเหลวต่ำ ด้วยการทดสอบวีบี (VEBE Test)

    วิธีนี้คิดขึ้นโดย วี บาหร์เนอร์ (V. Bahrner) ชาวสวีเดนจึงเรียกการทดสอบนี้ว่าการทดสอบเวลาวีบี วิธีการทดสอบคล้ายกับรีโมลดิงโดยเอาขอบในที่กั้นออกและใช้เครื่องเขย่าคอนกรีตเข้าช่วยแทนการปล่อยให้ตกอิสระ รายละเอียดการทดสอบมีอยู่ในมาตรฐาน BS EN 12350-3 การทดสอบใช้โต๊ะเขย่า (Vibrating Table) ที่ความถี่ 50 Hz และความเร่งสูงสุด 3 g ถึง 4 g โดยหล่อคอนกรีตในแบบหล่อสำหรับหาค่ายุบตัวที่กลางเครื่องมือ เลื่อนแผ่นแก้วหรือแผ่นพลาสติกใสวางลงบนคอนกรีตสด เริ่มเขย่าจนกว่าผิวล่างของแผ่นแก้วสัมผัสกับคอนกรีตทั่วแผ่น ซึ่งต้องใช้ความชำนาญในการสังเกตโดยช่องอากาศใต้แผ่นจะค่อยๆ ถูกกำจัดออกไปจนหมด เวลาที่ใช้สำหรับการเขย่าเพื่อให้ผิวของแผ่นแก้วใสสัมผัสกับคอนกรีตทั้งหมดคือเวลาวีบี ซึ่งคิดเป็นวินาที โดยมีอุปกรณ์และวิธีการทดสอบเคร่าๆ ดังนี้

 


อุปกรณ์
 
1. ชุดเครื่องมือมาตรฐานสำหรับทดสอบ Vebe ที่ประกอบด้วยกรวยตัด ชุดเขย่ามาตรฐาน
2. เหล็กตำ
3. ช้อนตัก, เกรียงเหล็ก
4. นาฬิกาจับเวลา

วิธีการทดสอบ
 
1. วางกรวยสำหรับหาค่ายุบตัวที่กลางชุดเขย่าคอนกรีตใส่แล้วดึงกรวยขึ้น
2. เลื่อนแผ่นแก้ววางลงบนคอนกรีต
3. เริ่มทำการเขย่าจนกว่าผิวของแผ่นแก้วสัมผัสกับคอนกรีตทั่วแผ่น โดยสังเกตช่องอากาศใต้แผ่นแก้วจะค่อยๆ ถูกกำจัดไป
4. จับเวลาตั้งแต่เริ่มเขย่าจนเสร็จ เป็นวินาที เวลาที่ได้คือเวลาวีบี

    การทดสอบเวลาวีบีจะเหมาะสำหรับทดสอบในห้องปฏิบัติการเท่านั้น และเหมาะสำหรับคอนกรีตที่มีความข้นเหลวต่ำหรือคอนกรีตที่ค่อนข้างแห้งโดยเวลาอยู่ระหว่าง 5-30 นาที  วิธีนี้ไม่ควรใช้กับส่วนผสมคอนกรีตที่มีมวลรวมขนาดใหญ่เกิน 40 มม. นอกจากนี้การใช้ความชำนาญในการระบุเวลาที่ผิวล่างของแผ่นแก้วสัมผัสคอนกรีตทั่วแผ่นเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้เวลาวีบีที่ได้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ทำการทดสอบ วิธีวีบีเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบ Compacting Factor แล้วพบว่าวิธี Compacting Factor อาจเกิดข้อผิดพลาดในคอนกรีตที่มีความแห้งมากๆ เนื่องจากคอนกรีตจะติดกรวยไม่ค่อยไหลลง แต่วิธีวีบีนี้จะให้ค่าที่ดีกว่าและเป็นวิธีที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงๆ อย่างมาก 
 
อ้างอิง
ชัชวาลย์ เศรษฐบุตร, คอนกรีตเทคโนโลยี, CPAC
ปริญญา จินดาประเสริฐ และ ชัย จาตุรพิทักษ์กุล, ปูนซีเมนต์ ปอซโซลานและคอนกรีต, สมาคมคอนกรีตไทย (ส.ค.ท.)